คุณกำลังมองหาอะไร?

ลอสตริเดียม

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

01.01.2513
7089
0
แชร์
01
มกราคม
2513

 

คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) ©

     คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) © เป็นแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นท่อน สร้างสปอร์และเป็นแอนแอโรบ (Anaerobic Sporeforming Rods) มีเมทาบอลิซึมแบบกระบวนการหมัก ซึ่งผลจากกระบวนการหมักได้กรดอินทรีย์ พบได้ในลำไส้คนและสัตว์ ในดิน น้ำเค็ม และน้ำจืดที่ไม่มีอากาศ มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนและสร้างกรดจากคาร์โบไฮเดรต ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ เกิดการติดเชื้อที่บาดแผลเรียกแก๊สแกงกรีน (Gas Gangrene)

เชื้อสามารถสร้างเอนไซม์ไม่น้อยกว่า 5 ชนิดดังนี้

  • ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ซึ่งเป็นสารเชื่อมระหว่างเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เชื้อโรคสามารถกระจายไปตามเนื้อเยื่อต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • เลซิธิเนส (Lacithinase) หรือแอลฟ่าทอกซิน ( - toxin) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยเลซิธิน (Lecithin) ซึ่งเป็นสารฟอสโฟลิพิดที่มีอยู่ตามเยื่อหุ้มเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อถูกย่อย โดยเฉพาะย่อยเม็ดเลือดแดง
  • คอลลาเจเนส (Collagenase) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยึดอยู่ในเนื้อเยื่อกระดูก กระดูกอ่อน และกล้ามเนื้อ
  • ฮิโมไลซิน (Hemolysin) เป็นสารที่ทำลายฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน
  • สเตรปโตตอร์เนส (Streptodornase) อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีออกซีไรโบนิวคลีเอส (Deoxyribonuclease, DNases) ทำหน้าที่ทำลายและย่อย DNA

โรคที่เกิดจาก Clostridium perfringens ®

     โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษที่เชื้อสร้าง ทำให้มี อาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง ไม่อาเจียร เกิดอาการใน 8 - 22 ชั่วโมง ระยะโรค 12 - 48 ชั่วโมง

แหล่งที่มาของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหาร

  • อาหารเกิดการปนเปื้อนได้ง่ายจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศ ฝุ่นละออง เครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร จากตัววัตถุดิบ เช่น พืช ผัก ผลไม้ สัตว์ บริเวณทางเดินอาหาร ขน หนังของสัตว์ และบุคคลที่สัมผัสกับอาหาร
  • การปนเปื้อนจากดิน ดินเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ เช่น พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ ดินจะปนเปื้อนมากับวัตถุดิบได้มากระหว่างการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะพืชหัวซึ่งมีส่วนที่ใช้ประโยชน์อยู่ใต้ดิน เช่น กระชาย ขิง ดินยังปนเปื้อนมากับสัตว์น้ำที่โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่อาศัยตามโคลนเลน เช่น หอย นอกจากนี้ดินยังปนเปื้อนมากับ สัตว์ที่เลี้ยงแบบปล่อยตามทุ่งหญ้า เช่น วัว ควาย และ แกะ
  • ดินเป็นแหล่งของจุลินทรีย์หลายชนิด ปริมาณของจุลินทรีย์แตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความชื้นในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ชนิดและปริมาณของสารอาหาร ในดิน อุณหภูมิ จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่พบมากคือ แบคทีเรียที่สร้างสปอร์ได้แก่ เช่น Bacillus และ Clostridium ได้แก่ Clostridium botulinum, Clostridium perfringens นอกจากนี้ยังพบแบคทีเรีย Enterobacter, Enterococcus, Pseudomonas, Proteus, Micrococcus เป็นต้น ส่วนราพบมากที่บริเวณผิวดิน ตัวอย่างเช่น Aspergillus, Fusarium และ Penicillium เป็นต้น

การปนเปื้อนจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่

  1. น้ำผิวดิน เช่น น้ำจากห้วยหนองคลองบึง แม่น้ำ
  2. น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล น้ำใต้ดินเป็นน้ำที่ผ่านการกรองจากชั้นหิน ดิน และทราย อาจเกิดการปนเปื้อนได้หากผิวดินบริเวณน้ำมีสิ่งสกปรก เช่น กองขยะ บ่อปฏิกูล น้ำสกปรกสามารถซึมผ่านชั้นดินและปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำใต้ดินได้
  3. น้ำในบรรยากาศ หากเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ หรือเป็นละอองฝอย เป็นแหล่งปนเปื้อนและกระจายของจุลินทรีย์ในอาหารได้

ปัจจัยที่มีผลกับการเจริญเติบโต ของ Clostridium perfringens

  • ออกซิเจน เป็นแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ เติบโตได้ดีในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน
  • อุณหภูมิเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม mesophile ช่วงอุณหภูมิการเติบโตอยู่ระหว่าง 20-50 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมการอยู่ระหว่าง 37-45 องศาเซลเซียส มี generation time ในสภาวะอุณหภูมิที่เหมาะสม (45 องศาเซลเซียส) เพียง7นาที
  • การทนความร้อนของสปอร์แบคทีเรีย ค่อนข้างสูง และแตกต่างกันมาก ขึ้นกับสภาวะแวดล้อม สายพันธ์ที่พบระบาด มีค่า D value ที่อุณหภูมิ 100 oซ (D100) มากกว่า 40 นาที
  • pH ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อชนิดนี้อยู่ระหว่าง 5-8.5
  • วอเตอร์แอคทิวิตี้ (water activity,aw ) ที่เหมาะสมกับการเจริญค่อนข้างสูง คือมากกว่า 0.95 ไม่เจริญในสภาวะที่มีเกลือ NaCl มากกว่า 10 %

อาหารที่เกี่ยวข้องกับ Clostridium perfingens

     อาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่น เนื้อวัว ไก่ หมู ปลา อาหารที่ปรุงสุกพร้อมรับประทาน อาหารแห้ง สมุนไพร เครื่องเทศ เชื้อชนิดนี้มักพบก่อปัญหากับการบริการอาหาร ที่ต้องเตรียมอาหารจำนวนมาก ล่วงหน้าเป็นเวลานาน เช่น โรงเรียน ร้านอาหาร ภัตตาคาร

 

ข้อมูลโดย :

  • นฤมล ตปนียะกุล
    นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญฯ
  • วาสนา คงสุข
    นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ

รวบรวมและเรียบเรียง : ในส่วน ©

เอกสารอ้างอิง :

  • Guidelines for Drinking – water Quality, 3 rd ed., WHO (Geneva), 2004
  • Guidance Manual for Drinking Water Quality Monitoring and Assessment – Second Edition , WHO
  • (Country Office for India), 2010
  • Sawyer, C.N. , Mc Carty , P.L. and Parkin, G.F. “Chemistry for Environmental Engineering” 4th ed.,
  • Mc Grow – Hill, New York, 1994.
  • Standard Methods for the Examination of Water and Wastewater, APHA , AWWA & WEF, 21st ed., 2005

แหล่งที่มาข้อมุล ในส่วน ® / รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม จาก

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน